เกษตรกรลุ้นต่อ รอรับ 3 หมื่น นอนแบงก์ประกาศไม่ยึดรถ-ยึดมอเตอร์ไซค์

เกษตรกรลุ้นต่อ รอรับ 3 หมื่น นอนแบงก์ประกาศไม่ยึดรถ-ยึดมอเตอร์ไซค์

“อุตตม” ยันจ่ายเงินสดให้เกษตรกรแน่ แต่ยังไม่เคาะ 3 หมื่นบาทต่อครัวเรือน สั่ง ธ.ก.ส.ทำรายละเอียดเพิ่มเติมมาเสนอก่อนสรุปอีกที เผยรัฐตั้งวงเงินไว้ 2 แสนล้านบาท ด้านคนกู้นอนแบงก์สบายใจได้อีกเปลาะ หลังผู้ประกอบการยันไม่มีนโยบายยึดรถ-ยึดมอเตอร์ไซค์ หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้เงินช่วยเหลือเกษตรกร ถึง 30,000 บาทต่อครัวเรือนหรือไม่ แต่แนวทางคือ จะจ่ายเงินสดให้เกษตรกรโดยตรง เหมือนในอดีตที่เคยจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่อง โดยจะนัดหารือผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ถ้าได้ข้อสรุปจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แต่การจ่ายเงินคงต้องรอเงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ และเริ่มกู้เงินในเดือน พ.ค.63

“ในเบื้องต้นมีตัวเลขเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวย าประมาณ 9 ล้านครัวเรือน ซึ่งมาจากตัวเลขเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้อาจจะมีมาตรการอื่น มาเสริมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เช่น การช่วยเหลือชาวนา เป็นต้น ส่วนในอนาคตหากต้องช่วยเหลือกลุ่มใดเพิ่มเติมก็จะใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.นี้”

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ต้องกลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม 3 ประเด็น คือ

1.จำนวนครัวเรือนที่จะให้มีเท่าไหร่ จากเบื้องต้นมีตัวเลข 9 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวเลขจากการลงทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.จะใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าจ่าย 15,000บาท เท่ากับอาชีพอิสระ 3 เดือน ต้องใช้งบประมาณถึง 135,000 ล้านบาท หรือถ้าจ่ายสูงกว่านี้งบประมาณจะต้องมากกว่านี้

3.จะจ่ายกี่ครั้ง ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง

“ในการจ่ายเงินต้องดูว่าใช้เงินรวมเท่าไหร่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของงบเยียวย า ซึ่งรวมวงเงินที่ต้องนำไปใช้ในด้านสาธารณสุขด้วย มีวงเงินรวม 600,000 ล้านบาท ถ้าเอาไปให้เกษตรกรมากจะต้องลดทอนงบอีกส่วนลง นอกจากนี้ ต้องดูไม่ซ้ำซ้อน เช่น เกษตรกรบางคน หรือครอบครัวเกษตรกร ได้รับเงินจากอาชีพอิสระไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่จะได้รับเงินจะต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น ชาวนา ชาวสวน เลี้ยงสัตว์ ประมง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีบัญชีอยู่กับ ธ.ก.ส.แล้ว ประมาณ 6-7 ล้านบัญชี”

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า วงเงินเยียวย าเกษตรกรอาจจะไม่เท่ากับการเยียวย า 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนที่จ่ายให้กับกลุ่มอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง เพราะเกษตรกรไม่ได้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูกาลเพาะปลูก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลได้ตั้งวงเงินสำหรับเยียวย าภาคเกษตรไว้ไม่เกิน 200,000 ล้านบาท โดยจะจ่ายตามจริงและตามความเหมาะสม ซึ่งวงเงินนี้อาจใช้ไม่เต็มวงเงินดังกล่าวก็เป็นได้

ส่วนกรณีที่ธนาคารออมสินได้ปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน 80,000 ล้านบาทให้กับนอนแบงก์ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อนำไปปล่อยต่อในอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปีนั้น นายลวรณ กล่าวว่า ขณะนี้ได้พูดคุยกับผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ได้แก่ สมาคมลีสซิ่งไทย จำนวน 33 บริษัท สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ชมรมบัตรเครดิต และชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย จำนวน 6 เดือน ในลักษณะเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์

“ธุรกิจนอนแบงก์ยินดีที่จะดำเนินการพักเงินต้นและดอกเบี้ยตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่มีนโยบายยึดรถยนต์และยึดมอเตอร์ไซค์ของลูกหนี้คนใด หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ให้กับธุรกิจนอนแบงก์ เพราะรายได้ของธุรกิจมาจากดอกเบี้ย ถ้ามีการพักหนี้และดอกเบี้ยตามมาตรการของรัฐบาลบริษัทจะไม่มีเงินรายได้เข้ามาเลยช่วงที่ช่วยเหลือลูกค้า”

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้เห็นชอบให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 80,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับนอนแบงก์ จากวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 150,000 ล้านบาท โดยจะให้ทางผู้ประกอบการนอนแบงก์เข้ามาใช้สินเชื่อในลักษณะเดียวกับธนาคารอื่นที่เข้ามาขอใช้ซอฟต์โลนกับธนาคารออมสิน

“สินเชื่อซอฟต์โลนที่ธนาคารออมสินจัดสรรให้กับธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว จะมีการดึงกลับคืนมาเพื่อนำมาปล่อยให้กับนอนแบงก์แทน เนื่องจากเงื่อนไขสินเชื่อซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 500,000ล้านบาท ที่ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี มีเงื่อนไขที่ดีกว่าธนาคารออมสินให้ เพราะมีการชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 60-70% หากกลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ดังนั้น จึงจะให้ธนาคารพาณิชย์ไปใช้สินเชื่อของ ธปท.”

ทั้งนี้ เงื่อนไขของ พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการพักหนี้และลดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6เดือน สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต.